Pages - Menu

วันเสาร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2558

การผลิตใบมันสำปะหลังแห้งเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์

การผลิตใบมันสำปะหลังแห้งเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์

ฝากกดไลค์เพจด้วยนะครับ https://www.facebook.com/sedtagidpurpearng


1) เก็บใบมันสำปะหลัง ควรเก็บใบมันสำปะหลังจากต้นก่อน ทำการเก็บเกี่ยวหัวมัน เนื่องจากการเก็บใบมันสำปะหลังหลังการเกี่ยว แล้วนั้น อาจทำได้ไม่สะดวก และไม่สามารถเก็บใบมันสำปะหลังใน แปลงได้หมด แต่ควรเก็บใบมันก่อนการขุดหัวมันไม่เกิน 12– 24 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อเปอร์เซ็นต์แป้งในหัวมันสำปะหลัง

2) การเก็บใบมันนั้นควรเด็ดจากส่วนยอดบริเวณที่มีสีเขียว ยาวลงมาประมาณ 20 เซนติเมตร ส่วนที่เหลือเด็ดเฉพาะใบกับก้าน ใบเท่านั้น ไม่ควรเก็บส่วนของลำต้นติดมาด้วย เนื่องจากจะทำให้
ใบมันสำปะหลังที่ได้มีคุณภาพต่ำ คือโปรตีนต่ำ เยื่อใยสูง และส่วน ก้านกับลำต้นยังทำให้แห้งได้ช้าอีกด้วย

3) เมื่อเก็บใบมันมาแล้วควร ตาก / ผึ่งแดดให้เร็วที่สุด เนื่องจากการเก็บไว้ในกระสอบหรือกองไว้ ทำให้เกิดความร้อนขึ้น ส่งผลให้ใบมันสำปะหลังมีลักษณะตายนึ่ง ใบมันสำปะหลังที่ได้
เป็นสีน้ำตาล ไม่เป็นสีเขียว ไม่น่าใช้ อีกทั้งทำให้มีการสูญเสีย ไวตามินเอและสารสีในใบมันไปด้วย

4) นำใบมันสำปะหลังที่เก็บได้มาตาก / ผึ่งแดด ให้แห้ง โดยอาจสับเป็นชิ้น ซึ่งจะทำให้ตากแห้งเร็วขึ้น ระหว่างการตาก ควรกลับใบมันสำปะหลังไปมาเป็นระยะ ๆ เพื่อให้ส่วนใบและก้าน แห้งได้ทั่วถึง โดยตาก / ผึ่งแดด นาน 2 – 3 แดด ซึ่งใบมันแห้งที่ ได้นี้สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบอาหารโค – กระบือ ได้ทันทีโดยไม่ต้องทำการบดสำหรับในสัตว์กระเพาะเดี่ยวพวกสุกรและสัตว์ปีกต้องนำไปบดให้ละเอียดก่อนนำไปใช้ผสมกับวัตถุดิบชนิดอื่น

       
คุณค่าทางโภชนะของใบมันสำปะหลังแห้ง
        สำหรับคุณค่าทางโภชนะของใบมันสำปะหลังจะผันแปรตามปริมาณส่วนใบกับก้าน และลำต้นที่ติดมา ถ้ามีส่วนใบมากโปรตีนก็จะสูง โดยคุณค่าทางโภชนะของใบมันสำปะหลังแห้ง แสดงในตารางที่ 1 แม้ว่าใบมันสำปะหลังจะมีสารพิษสำคัญ 2 ชนิด คือกรดไฮโดรไซยานิคและสารแทนนิน แต่ในใบมันแห้งจะมีกรดไฮโดรไซยานิคเหลืออยู่ในระดับต่ำมากไม่เกิน 30 ส่วนในล้านส่วน (ppm) เช่นเดียวกับในมันเส้นที่สารพิษระเหยออกไประหว่างผึ่งแดด จนเหลือในระดับที่ไม่เป็นอันตรายสำหรับสัตว์ และกรดไฮโดรไซยานิคในระดับต่ำดังกล่าวนี้กลับช่วยกระตุ้นให้เกิดระบบที่ทำให้สัตว์มีความต้านทานโรคเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนปริมาณแทนนินที่มีอยู่ในระดับต่ำ 14.79 มิลลิกรัม/กก. ก็มีประโยชน์สามารถควบคุมพยาธิในตัวสัตว์ได้ด้วยนอกจากนี้ใบมันสำปะหลังแห้งยังสามารถใช้เป็นแหล่งของไวตามินเอ (แคโรทีน) และสารสีแซนโทฟิลล์ให้กับสัตว์โดยมีปริมาณสูงกว่า คือประมาณ 660 มก. / กก. เทียบกับ 318 มก. / กก. ที่มีอยู่ในใบกระถิน

การใช้ใบมันสำปะหลังแห้งในสูตรอาหารสัตว์

ข้อจำกัดในการใช้ใบมันสำปะหลังคือระดับเยื่อใยหรือความฟ่าม จึงแนะนำให้ใช้ในสูตรอาหารสุกรรุ่น-ขุน และแม่พันธุ์ในระดับไม่เกิน 10-15 เปอร์เซ็นต์ อาหารสัตว์ปีกไม่เกิน 5-7 เปอร์เซ็นต์ อาหารผสมรวม (TMR) สำหรับโค-กระบือ 10-20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นระดับที่จะไม่มีปัญหาจากสารพิษทั้งสองชนิดดังกล่าวข้างต้น


ผลการใช้ใบมันสำปะหลังเป็นอาหารสัตว์ปีก

  การใช้ใบมันสำปะหลังเป็นแหล่งสารสีแซนโทฟิลล์ในอาหารสัตว์ปีก ได้ทดลองโดยทวีศักดิ์ (2544) ซึ่งศึกษาการใช้ใบมันสำปะหลังเป็นแหล่งสารสีในอาหารไก่ไข่ และพบว่าการเพิ่มระดับใบมันสำปะหลังในสูตรอาหารทำให้คะแนนสีไข่แดงสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
            โดยไก่ไข่ที่ได้รับอาหารมันสำปะหลังเสริมด้วยใบมันสำปะหลังระดับต่าง ๆ เพื่อเป็นแหล่งสารสี มีคุณภาพไข่ที่ผลิตได้ไม่แตกต่างจากไข่ของไก่ที่กินอาหารสูตรข้าวโพด อย่างไรก็ตามการใช้ใบมันสำปะหลังในระดับสูงอาจทำให้อาหารมีเยื่อใยสูงและมีความฟ่ามมาก ทำให้ปริมาณการกินอาหารของสัตว์ไม่เพียงพอ ระดับใบมันสำปะหลังที่ใช้ในอาหารไก่ไข่ไม่ควรเกิน 5–7 %
            วิภาสิริ (2548) ได้ทำการศึกษาการใช้ใบมันสำปะหลังเป็นอาหารไก่ไข่ พบว่าแม่ไก่ที่กินอาหารใช้ใบมันสำปะหลังเป็นแหล่งสารให้สีในสูตรอาหารมีผลผลิตไข่และคะแนนสีของไข่แดงสูงกว่าแม่ไก่ที่กินอาหารที่ใช้ใบกระถินอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) นอกจากนี้ในใบมันสำปะหลังยังมีสารไซยาไนด์อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งพบว่าร่างกายจะทำการเปลี่ยนสารไซยาไนด์เป็นสารไธโอไซยาเนต ซึ่งสารไธโอไซยาเนตนี้สามารถทำปฏิกิริยากับไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H202) ในกระบวนการต้านอนุมูลอิสระให้เปลี่ยนเป็นน้ำ เป็นการช่วยกำจัดอนุมูลอิสระอีกทางหนึ่ง รวมทั้งการกระตุ้นการสังเคราะห์กลูตาไธโอนด้วย (Murry et al., 1996 และMary et al., 2001) ดังนั้นใบมันสำปะหลังจึงมีศักยภาพในการใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่นอกจากเป็นแหล่งให้โปรตีนและสารให้สีแล้ว ยังเป็นวัตถุดิบอาหารที่ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรคให้แก่สัตว์ได้อีกด้วย จีราภา (2550) รายงานว่าการเพิ่มระดับใบมันสำปะหลังในสูตรอาหารมีผลทำให้ปริมาณกลูตาไธโอนในกระแสเลือดของไก่เนื้อในทุกช่วงอายุเพิ่มขึ้นตามระดับของใบมันสำปะหลังอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05)

รวบรวมข้อมูลโดย 
ศราญุ  สุวรรณธาดา
คณะผู้วิจัย:
นางสุกัญญา จัตตุพรพงษ์ และนางสาววราพันธุ์ จินตณวิชญ์
และทวีศักดิ์ เตชะเกรียงไกร วิภาสิริ เสภารัตนานันท์ จีราภา เตียวสมบูรณ์กิจ อุทัย คันโธ และ สุกัญญา จัตตุพรพงษ์
ศูนย์ค้นคว้าและพัฒนาวิชาการอาหารสัตว์ สถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจ ฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น